สุขภาพแข็งแรงกับ HOME SAFE ตอนที่23 (ล้างผักผลไม้อย่างไร ให้ปลอดภัยจากสารพิษ)


ล้างผักผลไม้อย่างไร ให้ปลอดภัยจากสารพิษ
ตั้งแต่ได้ยินข่าวว่ามีสารเคมีตกค้างในผักผลไม้ ก็แอบเกิดอาการหวั่นๆ ไปเลยค่ะ ว่ากลัวจะไปซื้อหรือรับประทานผักผลไม้ที่มีสารปนเปื้อนมาไหม แต่ถ้าจะให้กลัวจนระแวงจนถึงขั้นไม่ซื้อมากินเลย ก็คงเป็นไปไม่ได้เพราะเราๆ ก็ยังคงต้องทานอาหารให้ครบห้าหมู่กันอยู่ ดังนั้นเราเลยไปเสาะหาวิธีการเลือกผักผลไม้และวิธีการทำความสะอาดผักผลไม้ ให้สะอาดมาฝากกันค่ะ

ล้างผักผลไม้อย่างไร ให้ปลอดภัย หายห่วง

ผักชนิดต่าง ๆ ล้วนมีประโยชน์ต่อร่างกายเพราะอุดมไปด้วยเกลือแร่   รวมทั้งช่วยลดระดับไขมันในเส้นเลือด   และที่สำคัญคือสามารถช่วยลดปัญหาท้องผูกอันเป็นสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ด้วย    อย่างไรก็ตามแม้ผักจะมีประโยชน์ต่อร่างกายมากแค่ไหนแต่ก็มีอันตรายซ่อนอยู่ด้วยนั่นคือสารพิษตกค้างจากปุ๋ยและยาฆ่าแมลงที่ติดมากับผักซึ่งเราไม่สามารถมองเห็นได้    จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษโดยเฉพาะผักที่มีการสะสมสารพิษไว้มาก    เช่น    ผักกาดขาว    กะหล่ำปลี    คะน้า    ต้นหอม
การเลือกซื้อผักมาบริโภคควรเลือกผักที่มีแมลงรบกวนหรือใช้สารเคมีน้อยที่สุด เพราะสารพิษที่เราได้รับเข้าสู่ร่างกายแม้จะในปริมาณน้อยแต่ถ้าได้รับบ่อยครั้งเป็นเวลานานก็สามารถเกิดการสะสมเพิ่มปริมาณมากขึ้น    จนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเซลล์กลายเป็นเซลล์มะเร็งลุกลามไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้    เช่น    มะเร็งตับและมะเร็งลำไส้    เป็นต้น
การล้างผักจึงเป็นสิ่งสำคัญ    ควรล้างด้วยน้ำสะอาดอย่างน้อย 2 ครั้ง   ผักที่มีหนอนเจาะอยู่ควรแช่ด้วยน้ำเกลือทิ้งไว้สักพักหนอนและแมลงจะลอยขึ้นมา  แล้วจึงนำไปล้างน้ำสะอาดอีกครั้ง   หรือหากมีดินติดมาควรแช่น้ำไว้สักครู่เพื่อให้ดินอ่อนตัวลงจะช่วยให้ล้างดินออกได้ง่ายขึ้น    เคล็ดลับการเลือกซื้อผักปลอดสารพิษควรเลือกดูผักที่มีรอยหนอนหรือแมลงกัดแทะเล็กน้อย

การล้างผักช่วยลดสารพิษ    มีวิธีปฏิบัติง่าย ๆ ดังนี้          
1.  ใช้โซเดียมไบคาร์บอเนต(ผงฟู) 1 ช้อนโต๊ะผสมน้ำอุ่น 1 กะละมัง(20 ลิตร)    แช่นาน 15 นาทีแล้วนำไปล้างน้ำอีกหลาย ๆ ครั้ง    จะสามารถลดสารพิษได้ 90 – 95 %
2.  ใช้น้ำส้มสายชู(5%) 1 ช้อนโต๊ะผสมน้ำ 1 กะละมัง    แช่นาน 10 – 15 นาที     จะสามารถลดสารพิษได้ 60 – 84 %
3.  ล้างผักโดยให้น้ำไหลผ่าน  ใช้มือช่วยคลี่ใบผักนาน 2 นาที   จะสามารถลดสารพิษได้ 54 – 63 %
4.  ลอกหรือปอกเปลือกชั้นนอกของผักออกทิ้ง   เด็ดผักเป็นใบ ๆ แล้วแช่น้ำสะอาดนาน 10 – 15 นาที    จะสามารถลดสารพิษได้ 27 – 72 %
5.  ต้มหรือลวกผักด้วยน้ำร้อน    จะสามารถลดสารพิษได้ 48 – 50 %
6. ใช้ด่างทับทิม 20 – 30 เกล็ดผสมน้ำ 1 กะละมัง   แช่นาน 10 นาที   แล้วล้างด้วยน้ำสะอาดอีกครั้ง    จะสามารถลดสารพิษได้ 35 – 43 %
7. ใช้เกลือป่น 1 ช้อนโต๊ะผสมน้ำ 1 กะละมัง    แช่นาน 10 นาที   แล้วล้างด้วยน้ำสะอาดอีกครั้ง    จะสามารถลดสารพิษได้ 29 – 38 %
เพื่อสุขภาพที่ดีของทุกคนในครอบครัวจึงควรใช้เวลาในขั้นตอนของการล้างผักเพิ่มขึ้น  ซึ่งนอกจากเราจะได้รับประโยชน์จากผัก  ผลไม้อย่างเต็มที่แล้ว    ยังช่วยลดปริมาณสารพิษตกค้างที่มีผลเสียต่อสุขภาพอีกด้วยค่ะ

ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : กลุ่มงานสุขศึกษา โรงพยาบาลลำปาง
ภาพประกอบจาก : www.Photos.com

สุขภาพแข็งแรงกับ HOME SAFE ตอนที่22 (ข้อน่ารู้เกี่ยวกับโรคไมเกรน)


    ข้อน่ารู้เกี่ยวกับโรคไมเกรน (ลมตะกัง) (หมอชาวบ้าน)




              อาการปวดหัวนั้นมีหลากหลาย บ้างก็ปวดหัวตรงกลาง บ้างก็ปวดตรงขมับ มึน งง เวียนศีรษะ หรือแม้กระทั่งปวดหัวข้างเดียวอย่างที่รู้จักในชื่อ "ไมเกรน" หรือ ลมตะกัง ซึ่งหลาย ๆ คนมีอาการเช่นนี้อยู่ จึงรู้ดีว่ามันทุกข์ทรมานมากขนาดนี้ นิตยสารหมอชาวบ้าน มีข้อเท็จจริงน่ารู้เกี่ยวกับโรคไมเกรนมาบอกกัน

    1. สาเหตุ 

              สาเหตุที่แท้จริงยังไม่ทราบแน่ชัด ทราบว่าไม่มีความผิดปกติของโครงสร้างทางกาย (รวมทั้งสมอง) แต่ทุกครั้งที่กำเริบ จะมีการเปลี่ยนแปลงของสารเคมีในสมอง ส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงของหลอดเลือดและกลไกทางประสาทภายในสมองและบริเวณใบหน้า กล่าวคือ หลอดเลือดภายในกะโหลกศีรษะหดตัว ในขณะที่หลอดเลือดภายนอกกะโหลกศีรษะ (เช่น ที่ขมับ) พองตัว และประสาทไวต่อสิ่งกระตุ้นให้เกิดการเจ็บปวด ทำให้มีอาการปวดศีรษะที่มีลักษณะจำเพาะและอาการต่าง ๆ ร่วมด้วย

              โรคนี้สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรม พบว่าประมาณร้อยละ 70 ของผู้ป่วยมีพ่อแม่หรือพี่น้องเป็นไมเกรนด้วย

     2. สาเหตุกระตุ้น (เหตุกำเริบ / สิ่งกระตุ้น)

              โรคนี้มักมีอาการปวดศีรษะกำเริบเป็นครั้งคราว ทุกครั้งที่กำเริบ มักจะมีสาเหตุกระตุ้นล่วงหน้า เป็นชั่วโมงถึง 2วันเสมอ ผู้ป่วยควรสังเกตว่ามีอะไรเป็นเหตุกำเริบ หรือสิ่งกระตุ้นบ้าง (มักมีได้มากกว่า 1 อย่าง) เช่น

               ทางตา : แสงแดด แสงจ้า แสงระยิบระยับ การใช้สายตาเคร่งเครียดหรือลายตา (เช่น จ้องจอ คอมพิวเตอร์ หรืออ่านหนังสือนาน ๆ)

               ทางหู : เสียงดัง เสียงจอแจ

               ทางจมูก : กลิ่นต่าง ๆ รวมทั้งกลิ่นน้ำหอม ควันบุหรี่

               ทางลิ้น : อาหาร (เช่น เครื่องในสัตว์ อาหารทะเล หมูแฮม ไส้กรอก ถั่ว กล้วยหอม ช็อกโกแลต ผงชูรส น้ำตาลเทียม-แอสพาร์เทม (aspartame) เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การดื่มกาแฟมาก เป็นต้น) ยาเม็ดคุมกำเนิด ยานอนหลับ

               ทางกาย (กายภาพ) : อากาศร้อนจัด เย็นจัด อบอ้าว หิวจัด อิ่มจัด อดนอน นอนมาก (ตื่นสาย) ร่างกายเหนื่อยล้า ประจำเดือนมา มีไข้สูง มีอาการเจ็บปวดที่ต่าง ๆ (เช่น ปวดประจำเดือน ปวดฟัน)

               ทางใจ : เครียด กังวล คิดมาก ซึมเศร้า

     3. อาการที่โดดเด่น 

              คือ มีอาการปวดตุบ ๆ (ตามจังหวะชีพจร) ที่ขมับข้างเดียว (พบได้ร้อยละ 70-80) หรือ 2 ข้าง (พบได้ร้อยละ 20-30) แต่ละครั้งจะปวดติดต่อกันนาน 4-72 ชั่วโมง (ในกรณีที่ปวดข้ามคืน ช่วงนอนหลับจะทุเลาชั่วคราว พอตื่นนอนก็จะปวดต่อ) แม้ไม่ได้กินยา เมื่อปวดถึงจังหวะหนึ่งก็จะค่อย ๆ ทุเลาไปได้เอง แต่ถ้ารีบกินยาแก้ปวดเมื่อเริ่มมีอาการกำเริบ ก็จะช่วยให้ทุเลาได้เร็ว

              ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีอาการคลื่นไส้ร่วมกับปวดศีรษะ และมักจะปวดแรงขึ้นเมื่อสัมผัสสิ่งกระตุ้น เช่น ได้ยินเสียงดัง เห็นแสงจ้า ฝืนทำงาน เคลื่อนไหวร่างกาย หรือขึ้นลงบันได ผู้ป่วยมักจะหยุดพักและหลบเลี่ยงสิ่งกระตุ้นดังกล่าว เช่น นั่งหรือนอนพักในห้องที่อากาศสบาย ๆ สลัว ๆ เงียบ ๆ ถ้าได้หลับสักตื่นอาการปวดมักจะทุเลา

              ขณะปวดเต็มที่ มักคลำได้หลอดเลือดที่ขมับข้างที่ปวดพองตัว บางครั้งหลังปวดเต็มที่แล้ว อาจมีอาการอาเจียน แล้วการปวดก็จะค่อยทุเลาไป

              บางราย ก่อนปวดอาจมีอาการเตือนก่อนปวด คือ มีอาการทางสายตา (aura) เช่น ตาพร่า ตาลาย เห็นแสงสีรุ้ง เห็นดวงขาว ๆ หรือมองเห็นภาพที่ผิดเพี้ยนไปจากปกติประมาณ 15-30 นาที นำร่องมาก่อน และจะหายไปเมื่อเริ่มเกิดอาการปวดศีรษะ

    อาการปวดหัว

     4. การดำเนินของโรค 

              มักมีอาการครั้งแรกตอนวัยรุ่นหรือวัยหนุ่มสาว (ในวัยเด็กเล็ก อาจมีอาการเมารถ เมาเรือง่าย มาก่อน) อาการปวดมักกำเริบเป็นครั้งคราวเมื่อถูกเหตุกำเริบหรือสิ่งกระตุ้น อาจเดือนละครั้งหรือหลายครั้ง หรือนาน ๆ ที ส่วนใหญ่มักมีโอกาสกำเริบไปตลอดชีวิต บางรายอาจหายขาด เมื่อพ้นวัย 55 ปีไปแล้ว

              ผู้ที่มีอาการกำเริบบ่อยมาก (เช่น ปวดแทบทุกวัน) อาจมีโรคซึมเศร้า หรือโรควิตกกังวลร่วมด้วย

     5. อันตรายของโรค

              โดยทั่วไป ไม่มีภาวะแทรกซ้อนหรืออันตรายใด ๆ ยกเว้น หญิงที่เป็นไมเกรนแบบมีอาการเตือน คือ มีอาการสายตา (aura) นำร่องก่อนปวด หากสูบบุหรี่ หรือกินยาเม็ดคุมกำเนิด ก็อาจเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดสมองตีบตัน (อัมพาตครึ่งซีก) ได้มากกว่าคนทั่วไป

     6. การรักษา

               1. รีบกินยาบรรเทาปวด (เช่น พาราเซตามอล ครั้งละ 1-2 เม็ด) ทันทีที่เริ่มมีอาการ อย่ารอให้ปวดนานเกิน 30 นาที จะได้ผลน้อย ผู้ป่วยจำเป็นต้องพกยาแก้ปวดติดตัว จะได้กินทันทีที่เริ่มมีอาการ

               2. หาทางนอนพัก หรือนั่งพัก

               3. หลีกเลี่ยงที่ที่อบอ้าว มีแสงจ้าหรือเสียงดัง หยุดการเคลื่อนไหวร่างกาย และการเดินขึ้นลงบันได

              ถ้าคลื่นไส้มาก ให้กินยาแก้คลื่นไส้อาเจียน (ตามคำแนะนำของหมอ) ควบไปด้วย ในกรณีที่ใช้พาราเซตามอลไม่ได้ผล (พบได้ประมาณร้อยละ 20-30) แพทย์อาจให้ยาบรรเทาชนิดอื่น เช่น ไอบูโพรเฟน (ibuprofen) ทามาดอล (tamadol) เออร์โกทามีน (ergotamine) ชูมาทริปแทน (sumatriptan) เป็นต้น ซึ่งควรกินเป็นครั้งคราวเฉพาะเวลาปวด



     7. การป้องกัน 

              ควรสังเกตว่ามีอะไรเป็นเหตุกำเริบหรือสิ่งกระตุ้น (มักมีมากกว่า 1 อย่าง) แล้วหาทางหลีกเลี่ยงเสีย

              ถ้าเป็นบ่อยหรือรุนแรงจนเสียงาน แพทย์จะให้ยากินป้องกันนาน ครั้งละ 3-6 เดือน ยาป้องกัน เช่น อะมิทริปไทลีน (amitriptyline) นอร์ทริปไทลีน (nortriptyline) โพรพราโนลอล (propranolol) อะทิโนลอล (atenolol) โทพิราเมต (topiramate) ยาเหล่านี้อาจมีข้อระวังในการใช้ จึงต้องให้แพทย์เป็นผู้พิจารณาสั่งใช้ให้เหมาะกับผู้ป่วย แต่ละรายที่อาจมีภาวะสุขภาพหรือมีการใช้ยาอื่น ๆ อยู่ก่อน ซึ่งอาจเกิดผลข้างเคียงที่ร้ายแรงได้

    ตัวอย่างโรคที่มีอาการปวดศีรษะเรื้อรัง หรือปวดมากคล้ายไมเกรน

               1. ปวดศีรษะจากความเครียด (tension headache) เกิดจากมีจิตใจเครียด วิตกกังวล หรือนอนไม่หลับ กล้ามเนื้อ รอบศีรษะ หรือบริเวณท้ายทอยตึงตัว (เกร็งแข็ง) ผู้ป่วยจะมีอาการปวดหนัก ๆ มึน ๆ บริเวณรอบศีรษะหรือท้ายทอยติดต่อกันนานเป็นชั่วโมง ๆ เป็นวัน ๆ หรือเป็นสัปดาห์ โดยปวดพอทนอย่างคงที่ต่อเนื่อง และยังทำกิจวัตรประจำวันได้ จะทุเลาเมื่อหายเครียดหรือได้ยาบรรเทา (ไม่ปวดแรงขึ้น ๆ จนต้องหยุดงานไม่ปวดตุบ หรือปวดขมับข้างเดียว หรือคลื่นไส้แบบที่พบในไมเกรน)

               2. เนื้องอกสมอง (brain tumor) พบได้ในคนทุกวัย ผู้ป่วยจะมีอาการปวดหน่วง ๆ ตึง ๆ ทั่วศีรษะตอนเช้ามืด (ขณะกำลังตื่นนอน) พอตกสาย ไปทำงานหรือเรียนหนังสือก็หายไปเอง เป็นแบบนี้อยู่ทุกเช้า นานเป็นสัปดาห์ ๆ ซึ่งจะปวดนานและแรงขึ้นไปเรื่อย ๆ ต่อมาอาจกลายเป็นปวดแทบทั้งวัน หรือปวดรุนแรง มีอาการอาเจียนบ่อย อาจมีอาการเดินเซ แขนขากระตุกหรืออ่อนแรงตามมาในที่สุด (ไม่มีอาการปวดตุบ ๆ หรือปวดขมับข้างเดียวเป็นครั้งคราวแบบไมเกรน)

                3. หลอดเลือดสมองแตก (cerebral hemorrhage) บางคนอาจมีหลอดเลือดที่ผิดปกติมาแต่กำเนิด ซึ่งมีลักษณะเปราะบางแตกง่ายกว่าปกติ เมื่อโตขึ้นย่างเข้าวัยรุ่น วัยหนุ่มสาว หรือวัยกลางคนก็ถึงจังหวะแตก เริ่มแรกผังหลอดเลือดปริ มีเลือดซึมออกเล็กน้อย ผู้ป่วยจะมีอาการปวดทั่วศีรษะฉับพลันและรุนแรงต่อเนื่องเป็นชั่วโมง ๆ หรือเป็นวัน ๆ กินยาแก้ปวดไม่ทุเลา แต่ยังรู้สึกตัวดี ต่อมาก็จะแตก มีเลือดออกมาก ผู้ป่วยจะปวดรุนแรงมาก อาเจียน และหมดสติ หากเป็นตรงส่วนสำคัญ ก็จะเสียชีวิต แต่ถ้าเป็นตรงส่วนไม่สำคัญ แพทย์สามารถช่วยเยียวยาหรือผ่าตัดให้หายหรือรอดชีวิตได้ (ไม่มีอาการปวดตุบ ๆ หรือปวดขมับข้างเดียวเป็นครั้งคราวแบบไมเกรน)

               4. ต้อหินเฉียบพลัน (acute glaucoma) มักพบในวัยกลางคนขึ้นไปที่มีโครงสร้างของลูกตาผิดปกติซึ่งถ่ายทอดทางพันธุกรรม ช่วงที่มีอาการกำเริบเนื่องเพราะน้ำเลี้ยงภายในลูกตาเกิดการอุดกั้น ทำให้ความดันภายในลูกตาเพิ่มขึ้นฉับพลัน

              ผู้ป่วยจะมีอาการปวดตาและศีรษะข้างเดียวอย่างรุนแรงและต่อเนื่องเป็นชั่วโมง ๆ หรือเป็นวัน ๆ กินยาแก้ปวดไม่บรรเทา ตาข้างที่ปวดมีอาการตาพร่ามัว ตาแดง (มีอาการปวดศีรษะข้างเดียวคล้ายไมเกรน แต่ปวดหน่วงอย่างรุนแรงในลูกตามากกว่าปวดตุบที่ขมับ เป็นการปวดครั้งแรกที่พบในคนวัยกลางคนขึ้นไป)


    ขอบคุณสาระดีๆจาก kapook.com

สุขภาพแข็งแรงกับ HOME SAFE ตอนที่21 (ประโยชน์และโทษจากการกินเค็ม)



ประโยชน์และโทษจากการกินเค็ม


รูปประกอบจากอินเตอร์เนท

ประเทศไทยจะชอบอาหารรสจัด รสเค็มก็เป็นหนึ่งในนั้นด้วย รสเค็มจัดนั้นถ้าเรารับประทานไปมากๆ ก็มีผลอันตรายมากเหมือนกัน

โดยไตจะทำงานเกี่ยวข้องกับความเค็มโดยตรง ซึ่งไตจะเป็นอวัยวะสำหรับปรับโซเดียมในร่างกายให้สมดุล ถ้าโซเดียมในร่างกายมากเกินไป ไตก็จขับออกทางปัสสาวะ แต่ถ้าน้อยเกินไป ไตก็จะดูดโซเดียมกลับไปสู่กระแสเลือดได้ ดังนั้นเมื่อไตทำงานผิดปกติก็จะไม่สามารถขับเกลือออกจากเลือดได้ ทำให้เกิดความดันโลหิตสูง ทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้นทำงานหนักขึ้น เพราะความดันเลือดสูงขึ้นด้วย และถ้าไม่แก้ไขปล่อยให้ หัวใจทำงานหนักมากขึ้นเรื่อยๆ จะมีผลให้เกิดหัวใจวาย ได้

เกลือในชีวิตประจำวัน
  • ในชีวิตประจำวัน  พบว่ามีการใช้เกลือกันอย่างมากมาย ทั้งในเครื่องดื่ม , ขนม , บะหมี่กึ่งสำเร็จ รูป ฯลฯ 
  • ในการปรุงอาหาร  ต่างๆ มักมีเกลือเป็นส่วนประกอบเสมอ รวมทั้งในเครื่องปรุงรสชนิดต่างๆ อาจจะเป็นเกลือซ่อนอยู่ เช่น ในผงฟู , ผงชูรส , น้ำปลา , ซีอิ้ว , กะปี , ซอสถั่วเหลืองฯลฯ
  • ใน ผลไม้ ดอง  ต่างๆ เช่น มะม่วงดอง, บ๊วยเค็ม, ผักกาดดอง ฯลฯ
เกลือมากเกิน ก่อโรคร้าย
   แม้รสเค็มจะช่วยกระตุ้นให้เจริญอาหาร แต่ถ้าคุณกินมากเกินไปก็ให้โทษเช่นกัน ที่เห็นชัดก็คือกระหายน้ำ นอกจากนั้นยังมีโรคอันตรายอีกมากมาย
  • ความดันโลหิตสูง การกินเค็มส่งผลให้ปริมาณโซเดียมในเลือดมากขึ้น มีผลให้แรงดันของเหลวสูงขึ้น ร่างกายจึงต้องการปรับสมดุลด้วยการทำให้เจือจางลงโดยการดันน้ำออกจากเซลล์ ทำให้ปริมาณน้ำเลือดมีมากขึ้น เมื่อมีน้ำเลือดมากขึ้นก็ต้องใช้แรงดันเลือดเพิ่มมากขึ้น
  • โรคไต เนื่องจากไตเป็นอวัยวะสำคัญที่ช่วยปรับระดับโซเดียมในร่างกาย โดยปกติเมื่อร่างกายได้รับปริมาณโซเดียมสูงเกินไป ไตจะทำหน้าที่ขับน้ำและโซเดียมส่วนเกินออกมา แต่เมื่อใดก็ตามที่ไตทำงานผิดปกติ ไตก็จะไม่สามารถขับโซเดียมในปริมาณที่เหมาะสมได้ สำหรับผู้ที่มีอาการไตวายเรื้อรังอยู่แล้ว และเมื่อร่างกายมีปริมาณโซเดียมสะสมสูง น้ำในร่างกายจะเพิ่มปริมาณมากขึ้น ทำให้เกิดอาการบวมหรือปริมาณของเหลวในร่างกายที่มากเกินไป ส่งผลภาวะน้ำท่วมปอดได้
  • โรคหัวใจ สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัวคือความดันโลหิตสูง หากกินโซเดียมมาก จนทำให้ความดันคุมยาก ผลคือทำให้หัวใจต้องสูบฉีดหนักขึ้น และยังอาจทำให้ผนังกล้ามเนื้อหัวใจห้องล่างซ้าย ซึ่งคอยควบคุมการไหลเข้าออกของเลือดหนาขึ้น ส่งผลให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดหัวใจตีบได้ รวมไปถึงโรคเส้นเลือดในหัวใจหรือสมองตีบตัน หัวใจวาย อัมพฤกษ์ และอัมพาตได้
  • ภาวะบวม ถ้าร่างกายได้รับเกลือหรือโซเดียมมาก แต่ขับโซเดียมออกมาไม่ได้ดี เช่น กรณีผู้ป่วยโรคไต โรคตับ หรือโรคหัวใจ ในร่างกายก็จะมีน้ำคั่งมาก เพราะเกลือที่คั่งอยู่จะดูดน้ำเข้ามาไว้ในอวัยวะต่างๆ ทำให้ปริมาณน้ำของเนื้อเยื่อภายในและภายนอกเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดอาการบวมขึ้นได้
  • โรคกระดูกพรุน การรับประทานเกลือมากเกินไปเป็นเวลานานๆ อาจทำให้ร่างกายสูญเสียแคลเซียมในกระดูก เนื่องจากขณะที่ร่างกายพยายามขับโซเดียมส่วนเกินออกทางปัสสาวะยังส่งผลให้มีการขับถ่ายแร่ธาตุอื่นๆ รวมทั้งแคลเซียมออกไปด้วย จะเกิดการสูญเสียแบบสะสมเป็นผลทำให้เกิดภาวะกระดูกบางหรือโรคกระดูกพรุน และเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุอาจเกิดกระดูกแตกร้าวได้ง่าย
  • โรคนิ่วในทางเดินปัสสาวะ อย่างที่เล่าว่าคนที่กินอาหารรสเค็มจัดเป็นเวลานาน ทำให้สูญเสียแคลเซียมในปัสสาวะมากนั้น แคลเซียมดังกล่าวยังอาจสะสมทำให้เกิดเป็นนิ่วในทางเดินปัสสาวะได้อีก ซึ่งแคลเซียมเป็นส่วนประกอบสำคัญของการเกิดโรคนิ่วได้

ความเค็มในชีวิตประจำวัน
   “สำหรับคนไทยแล้ว แหล่งโซเดียมไม่ได้มาจากเกลือบนโต๊ะแบบต่างประเทศเท่านั้น เรายังมีเครื่องปรุงรสเค็มอื่นๆ ที่มีเกลือเป็นส่วนประกอบอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นน้ำปลา ซีอิ๊ว ซอสหอยนางรม ซอสมะเขือเทศ หรือซอสพริก ตลอดจนเครื่องปรุงรสเค็มตามท้องถิ่นต่างๆ เช่น กะปิ ปลาร้า น้ำบูดู หรือน้ำปู๋ แถมบางบ้านยังต้องมีน้ำปลาพริกวางไว้เคียงคู่โต๊ะอาหารอีกด้วยค่ะ นอกจากนี้ อาหารแปรรูปและอาหารสำเร็จรูปต่างๆ เช่น ไส้กรอก บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ก็มีเกลือโซเดียมเป็นส่วนประกอบ แม้อาหารบางอย่างที่ไม่ได้ออกรสเค็มก็มีโซเดียมเป็นส่วนประกอบเช่นกัน อาทิ ผงฟู (โซเดียมไบคาร์บอเนต) ผงชูรส (โมโนโซเดียมกลูตาเมท) ตลอดจนสารกันบูด (โซเดียมเบนโซเอต) เป็นต้น”
“เค็ม” เท่าไรถึงพอดี
   “จากคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกและข้อกำหนดสารอาหารที่แนะนำให้บริโภคประจำวันสำหรับคนไทย ในฉลากโภชนาการ กำหนดไว้ว่า เราควรบริโภคโซเดียมไม่เกินกว่า 2,400 มิลลิกรัมต่อวัน หรือคิดเป็นเกลือวันละ 6 กรัม และเทียบเท่ากับเกลือ 1 ช้อนชา อย่างไรก็ตาม ปริมาณโซเดียมที่ร่างกายต้องการจริงๆ นั้นน้อยมากเพียง 500 –1,475 มิลลิกรัมต่อวัน ปกติอาหารประจำวันจะได้รับโซเดียมคลอไรด์พอเพียง ซึ่งเกลือ 1 ช้อนชา จะให้โซเดียมถึง 2,400 มิลลิกรัม มากกว่าปริมาณที่ร่างกายของเราต้องการหลายเท่า”
   ทางที่ดี สำหรับผู้ที่ไม่อยากเจ็บป่วยหรือเป็นโรคแล้วก็ตาม คือ ต้องหัดกินอาหารรสจืดให้ได้เป็นปกติ และกินอาหารรสจัดให้น้อยลง






ขอบคุณข้อมูลดีๆจาก
http://www.cheewajit.com/
http://sukkhaphab.blogspot.com/