- ข้อน่ารู้เกี่ยวกับโรคไมเกรน (ลมตะกัง) (หมอชาวบ้าน)
อาการปวดหัวนั้นมีหลากหลาย บ้างก็ปวดหัวตรงกลาง บ้างก็ปวดตรงขมับ มึน งง เวียนศีรษะ หรือแม้กระทั่งปวดหัวข้างเดียวอย่างที่รู้จักในชื่อ "ไมเกรน" หรือ ลมตะกัง ซึ่งหลาย ๆ คนมีอาการเช่นนี้อยู่ จึงรู้ดีว่ามันทุกข์ทรมานมากขนาดนี้ นิตยสารหมอชาวบ้าน มีข้อเท็จจริงน่ารู้เกี่ยวกับโรคไมเกรนมาบอกกัน
1. สาเหตุ
สาเหตุที่แท้จริงยังไม่ทราบแน่ชัด ทราบว่าไม่มีความผิดปกติของโครงสร้างทางกาย (รวมทั้งสมอง) แต่ทุกครั้งที่กำเริบ จะมีการเปลี่ยนแปลงของสารเคมีในสมอง ส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงของหลอดเลือดและกลไกทางประสาทภายในสมองและบริเวณใบหน้า กล่าวคือ หลอดเลือดภายในกะโหลกศีรษะหดตัว ในขณะที่หลอดเลือดภายนอกกะโหลกศีรษะ (เช่น ที่ขมับ) พองตัว และประสาทไวต่อสิ่งกระตุ้นให้เกิดการเจ็บปวด ทำให้มีอาการปวดศีรษะที่มีลักษณะจำเพาะและอาการต่าง ๆ ร่วมด้วย
โรคนี้สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรม พบว่าประมาณร้อยละ 70 ของผู้ป่วยมีพ่อแม่หรือพี่น้องเป็นไมเกรนด้วย
2. สาเหตุกระตุ้น (เหตุกำเริบ / สิ่งกระตุ้น)
โรคนี้มักมีอาการปวดศีรษะกำเริบเป็นครั้งคราว ทุกครั้งที่กำเริบ มักจะมีสาเหตุกระตุ้นล่วงหน้า เป็นชั่วโมงถึง 2วันเสมอ ผู้ป่วยควรสังเกตว่ามีอะไรเป็นเหตุกำเริบ หรือสิ่งกระตุ้นบ้าง (มักมีได้มากกว่า 1 อย่าง) เช่น
ทางตา : แสงแดด แสงจ้า แสงระยิบระยับ การใช้สายตาเคร่งเครียดหรือลายตา (เช่น จ้องจอ คอมพิวเตอร์ หรืออ่านหนังสือนาน ๆ)
ทางหู : เสียงดัง เสียงจอแจ
ทางจมูก : กลิ่นต่าง ๆ รวมทั้งกลิ่นน้ำหอม ควันบุหรี่
ทางลิ้น : อาหาร (เช่น เครื่องในสัตว์ อาหารทะเล หมูแฮม ไส้กรอก ถั่ว กล้วยหอม ช็อกโกแลต ผงชูรส น้ำตาลเทียม-แอสพาร์เทม (aspartame) เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การดื่มกาแฟมาก เป็นต้น) ยาเม็ดคุมกำเนิด ยานอนหลับ
ทางกาย (กายภาพ) : อากาศร้อนจัด เย็นจัด อบอ้าว หิวจัด อิ่มจัด อดนอน นอนมาก (ตื่นสาย) ร่างกายเหนื่อยล้า ประจำเดือนมา มีไข้สูง มีอาการเจ็บปวดที่ต่าง ๆ (เช่น ปวดประจำเดือน ปวดฟัน)
ทางใจ : เครียด กังวล คิดมาก ซึมเศร้า
3. อาการที่โดดเด่น
คือ มีอาการปวดตุบ ๆ (ตามจังหวะชีพจร) ที่ขมับข้างเดียว (พบได้ร้อยละ 70-80) หรือ 2 ข้าง (พบได้ร้อยละ 20-30) แต่ละครั้งจะปวดติดต่อกันนาน 4-72 ชั่วโมง (ในกรณีที่ปวดข้ามคืน ช่วงนอนหลับจะทุเลาชั่วคราว พอตื่นนอนก็จะปวดต่อ) แม้ไม่ได้กินยา เมื่อปวดถึงจังหวะหนึ่งก็จะค่อย ๆ ทุเลาไปได้เอง แต่ถ้ารีบกินยาแก้ปวดเมื่อเริ่มมีอาการกำเริบ ก็จะช่วยให้ทุเลาได้เร็ว
ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีอาการคลื่นไส้ร่วมกับปวดศีรษะ และมักจะปวดแรงขึ้นเมื่อสัมผัสสิ่งกระตุ้น เช่น ได้ยินเสียงดัง เห็นแสงจ้า ฝืนทำงาน เคลื่อนไหวร่างกาย หรือขึ้นลงบันได ผู้ป่วยมักจะหยุดพักและหลบเลี่ยงสิ่งกระตุ้นดังกล่าว เช่น นั่งหรือนอนพักในห้องที่อากาศสบาย ๆ สลัว ๆ เงียบ ๆ ถ้าได้หลับสักตื่นอาการปวดมักจะทุเลา
ขณะปวดเต็มที่ มักคลำได้หลอดเลือดที่ขมับข้างที่ปวดพองตัว บางครั้งหลังปวดเต็มที่แล้ว อาจมีอาการอาเจียน แล้วการปวดก็จะค่อยทุเลาไป
บางราย ก่อนปวดอาจมีอาการเตือนก่อนปวด คือ มีอาการทางสายตา (aura) เช่น ตาพร่า ตาลาย เห็นแสงสีรุ้ง เห็นดวงขาว ๆ หรือมองเห็นภาพที่ผิดเพี้ยนไปจากปกติประมาณ 15-30 นาที นำร่องมาก่อน และจะหายไปเมื่อเริ่มเกิดอาการปวดศีรษะ
4. การดำเนินของโรค
มักมีอาการครั้งแรกตอนวัยรุ่นหรือวัยหนุ่มสาว (ในวัยเด็กเล็ก อาจมีอาการเมารถ เมาเรือง่าย มาก่อน) อาการปวดมักกำเริบเป็นครั้งคราวเมื่อถูกเหตุกำเริบหรือสิ่งกระตุ้น อาจเดือนละครั้งหรือหลายครั้ง หรือนาน ๆ ที ส่วนใหญ่มักมีโอกาสกำเริบไปตลอดชีวิต บางรายอาจหายขาด เมื่อพ้นวัย 55 ปีไปแล้ว
ผู้ที่มีอาการกำเริบบ่อยมาก (เช่น ปวดแทบทุกวัน) อาจมีโรคซึมเศร้า หรือโรควิตกกังวลร่วมด้วย
5. อันตรายของโรค
โดยทั่วไป ไม่มีภาวะแทรกซ้อนหรืออันตรายใด ๆ ยกเว้น หญิงที่เป็นไมเกรนแบบมีอาการเตือน คือ มีอาการสายตา (aura) นำร่องก่อนปวด หากสูบบุหรี่ หรือกินยาเม็ดคุมกำเนิด ก็อาจเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดสมองตีบตัน (อัมพาตครึ่งซีก) ได้มากกว่าคนทั่วไป
6. การรักษา
1. รีบกินยาบรรเทาปวด (เช่น พาราเซตามอล ครั้งละ 1-2 เม็ด) ทันทีที่เริ่มมีอาการ อย่ารอให้ปวดนานเกิน 30 นาที จะได้ผลน้อย ผู้ป่วยจำเป็นต้องพกยาแก้ปวดติดตัว จะได้กินทันทีที่เริ่มมีอาการ
2. หาทางนอนพัก หรือนั่งพัก
3. หลีกเลี่ยงที่ที่อบอ้าว มีแสงจ้าหรือเสียงดัง หยุดการเคลื่อนไหวร่างกาย และการเดินขึ้นลงบันได
ถ้าคลื่นไส้มาก ให้กินยาแก้คลื่นไส้อาเจียน (ตามคำแนะนำของหมอ) ควบไปด้วย ในกรณีที่ใช้พาราเซตามอลไม่ได้ผล (พบได้ประมาณร้อยละ 20-30) แพทย์อาจให้ยาบรรเทาชนิดอื่น เช่น ไอบูโพรเฟน (ibuprofen) ทามาดอล (tamadol) เออร์โกทามีน (ergotamine) ชูมาทริปแทน (sumatriptan) เป็นต้น ซึ่งควรกินเป็นครั้งคราวเฉพาะเวลาปวด
7. การป้องกัน
ควรสังเกตว่ามีอะไรเป็นเหตุกำเริบหรือสิ่งกระตุ้น (มักมีมากกว่า 1 อย่าง) แล้วหาทางหลีกเลี่ยงเสีย
ถ้าเป็นบ่อยหรือรุนแรงจนเสียงาน แพทย์จะให้ยากินป้องกันนาน ครั้งละ 3-6 เดือน ยาป้องกัน เช่น อะมิทริปไทลีน (amitriptyline) นอร์ทริปไทลีน (nortriptyline) โพรพราโนลอล (propranolol) อะทิโนลอล (atenolol) โทพิราเมต (topiramate) ยาเหล่านี้อาจมีข้อระวังในการใช้ จึงต้องให้แพทย์เป็นผู้พิจารณาสั่งใช้ให้เหมาะกับผู้ป่วย แต่ละรายที่อาจมีภาวะสุขภาพหรือมีการใช้ยาอื่น ๆ อยู่ก่อน ซึ่งอาจเกิดผลข้างเคียงที่ร้ายแรงได้
ตัวอย่างโรคที่มีอาการปวดศีรษะเรื้อรัง หรือปวดมากคล้ายไมเกรน
1. ปวดศีรษะจากความเครียด (tension headache) เกิดจากมีจิตใจเครียด วิตกกังวล หรือนอนไม่หลับ กล้ามเนื้อ รอบศีรษะ หรือบริเวณท้ายทอยตึงตัว (เกร็งแข็ง) ผู้ป่วยจะมีอาการปวดหนัก ๆ มึน ๆ บริเวณรอบศีรษะหรือท้ายทอยติดต่อกันนานเป็นชั่วโมง ๆ เป็นวัน ๆ หรือเป็นสัปดาห์ โดยปวดพอทนอย่างคงที่ต่อเนื่อง และยังทำกิจวัตรประจำวันได้ จะทุเลาเมื่อหายเครียดหรือได้ยาบรรเทา (ไม่ปวดแรงขึ้น ๆ จนต้องหยุดงานไม่ปวดตุบ หรือปวดขมับข้างเดียว หรือคลื่นไส้แบบที่พบในไมเกรน)
2. เนื้องอกสมอง (brain tumor) พบได้ในคนทุกวัย ผู้ป่วยจะมีอาการปวดหน่วง ๆ ตึง ๆ ทั่วศีรษะตอนเช้ามืด (ขณะกำลังตื่นนอน) พอตกสาย ไปทำงานหรือเรียนหนังสือก็หายไปเอง เป็นแบบนี้อยู่ทุกเช้า นานเป็นสัปดาห์ ๆ ซึ่งจะปวดนานและแรงขึ้นไปเรื่อย ๆ ต่อมาอาจกลายเป็นปวดแทบทั้งวัน หรือปวดรุนแรง มีอาการอาเจียนบ่อย อาจมีอาการเดินเซ แขนขากระตุกหรืออ่อนแรงตามมาในที่สุด (ไม่มีอาการปวดตุบ ๆ หรือปวดขมับข้างเดียวเป็นครั้งคราวแบบไมเกรน)
3. หลอดเลือดสมองแตก (cerebral hemorrhage) บางคนอาจมีหลอดเลือดที่ผิดปกติมาแต่กำเนิด ซึ่งมีลักษณะเปราะบางแตกง่ายกว่าปกติ เมื่อโตขึ้นย่างเข้าวัยรุ่น วัยหนุ่มสาว หรือวัยกลางคนก็ถึงจังหวะแตก เริ่มแรกผังหลอดเลือดปริ มีเลือดซึมออกเล็กน้อย ผู้ป่วยจะมีอาการปวดทั่วศีรษะฉับพลันและรุนแรงต่อเนื่องเป็นชั่วโมง ๆ หรือเป็นวัน ๆ กินยาแก้ปวดไม่ทุเลา แต่ยังรู้สึกตัวดี ต่อมาก็จะแตก มีเลือดออกมาก ผู้ป่วยจะปวดรุนแรงมาก อาเจียน และหมดสติ หากเป็นตรงส่วนสำคัญ ก็จะเสียชีวิต แต่ถ้าเป็นตรงส่วนไม่สำคัญ แพทย์สามารถช่วยเยียวยาหรือผ่าตัดให้หายหรือรอดชีวิตได้ (ไม่มีอาการปวดตุบ ๆ หรือปวดขมับข้างเดียวเป็นครั้งคราวแบบไมเกรน)
4. ต้อหินเฉียบพลัน (acute glaucoma) มักพบในวัยกลางคนขึ้นไปที่มีโครงสร้างของลูกตาผิดปกติซึ่งถ่ายทอดทางพันธุกรรม ช่วงที่มีอาการกำเริบเนื่องเพราะน้ำเลี้ยงภายในลูกตาเกิดการอุดกั้น ทำให้ความดันภายในลูกตาเพิ่มขึ้นฉับพลัน
ผู้ป่วยจะมีอาการปวดตาและศีรษะข้างเดียวอย่างรุนแรงและต่อเนื่องเป็นชั่วโมง ๆ หรือเป็นวัน ๆ กินยาแก้ปวดไม่บรรเทา ตาข้างที่ปวดมีอาการตาพร่ามัว ตาแดง (มีอาการปวดศีรษะข้างเดียวคล้ายไมเกรน แต่ปวดหน่วงอย่างรุนแรงในลูกตามากกว่าปวดตุบที่ขมับ เป็นการปวดครั้งแรกที่พบในคนวัยกลางคนขึ้นไป)
ขอบคุณสาระดีๆจาก kapook.com