ประโยชน์และโทษจากการกินเค็ม
รูปประกอบจากอินเตอร์เนท
ประเทศไทยจะชอบอาหารรสจัด รสเค็มก็เป็นหนึ่งในนั้นด้วย รสเค็มจัดนั้นถ้าเรารับประทานไปมากๆ ก็มีผลอันตรายมากเหมือนกัน
โดยไตจะทำงานเกี่ยวข้องกับความเค็มโดยตรง ซึ่งไตจะเป็นอวัยวะสำหรับปรับโซเดียมในร่างกายให้สมดุล ถ้าโซเดียมในร่างกายมากเกินไป ไตก็จขับออกทางปัสสาวะ แต่ถ้าน้อยเกินไป ไตก็จะดูดโซเดียมกลับไปสู่กระแสเลือดได้ ดังนั้นเมื่อไตทำงานผิดปกติก็จะไม่สามารถขับเกลือออกจากเลือดได้ ทำให้เกิดความดันโลหิตสูง ทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้นทำงานหนักขึ้น เพราะความดันเลือดสูงขึ้นด้วย และถ้าไม่แก้ไขปล่อยให้ หัวใจทำงานหนักมากขึ้นเรื่อยๆ จะมีผลให้เกิดหัวใจวาย ได้
เกลือในชีวิตประจำวัน
- ในชีวิตประจำวัน พบว่ามีการใช้เกลือกันอย่างมากมาย ทั้งในเครื่องดื่ม , ขนม , บะหมี่กึ่งสำเร็จ รูป ฯลฯ
- ในการปรุงอาหาร ต่างๆ มักมีเกลือเป็นส่วนประกอบเสมอ รวมทั้งในเครื่องปรุงรสชนิดต่างๆ อาจจะเป็นเกลือซ่อนอยู่ เช่น ในผงฟู , ผงชูรส , น้ำปลา , ซีอิ้ว , กะปี , ซอสถั่วเหลืองฯลฯ
- ใน ผลไม้ ดอง ต่างๆ เช่น มะม่วงดอง, บ๊วยเค็ม, ผักกาดดอง ฯลฯ
เกลือมากเกิน ก่อโรคร้าย
แม้รสเค็มจะช่วยกระตุ้นให้เจริญอาหาร แต่ถ้าคุณกินมากเกินไปก็ให้โทษเช่นกัน ที่เห็นชัดก็คือกระหายน้ำ นอกจากนั้นยังมีโรคอันตรายอีกมากมาย
- ความดันโลหิตสูง การกินเค็มส่งผลให้ปริมาณโซเดียมในเลือดมากขึ้น มีผลให้แรงดันของเหลวสูงขึ้น ร่างกายจึงต้องการปรับสมดุลด้วยการทำให้เจือจางลงโดยการดันน้ำออกจากเซลล์ ทำให้ปริมาณน้ำเลือดมีมากขึ้น เมื่อมีน้ำเลือดมากขึ้นก็ต้องใช้แรงดันเลือดเพิ่มมากขึ้น
- โรคไต เนื่องจากไตเป็นอวัยวะสำคัญที่ช่วยปรับระดับโซเดียมในร่างกาย โดยปกติเมื่อร่างกายได้รับปริมาณโซเดียมสูงเกินไป ไตจะทำหน้าที่ขับน้ำและโซเดียมส่วนเกินออกมา แต่เมื่อใดก็ตามที่ไตทำงานผิดปกติ ไตก็จะไม่สามารถขับโซเดียมในปริมาณที่เหมาะสมได้ สำหรับผู้ที่มีอาการไตวายเรื้อรังอยู่แล้ว และเมื่อร่างกายมีปริมาณโซเดียมสะสมสูง น้ำในร่างกายจะเพิ่มปริมาณมากขึ้น ทำให้เกิดอาการบวมหรือปริมาณของเหลวในร่างกายที่มากเกินไป ส่งผลภาวะน้ำท่วมปอดได้
- โรคหัวใจ สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัวคือความดันโลหิตสูง หากกินโซเดียมมาก จนทำให้ความดันคุมยาก ผลคือทำให้หัวใจต้องสูบฉีดหนักขึ้น และยังอาจทำให้ผนังกล้ามเนื้อหัวใจห้องล่างซ้าย ซึ่งคอยควบคุมการไหลเข้าออกของเลือดหนาขึ้น ส่งผลให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดหัวใจตีบได้ รวมไปถึงโรคเส้นเลือดในหัวใจหรือสมองตีบตัน หัวใจวาย อัมพฤกษ์ และอัมพาตได้
- ภาวะบวม ถ้าร่างกายได้รับเกลือหรือโซเดียมมาก แต่ขับโซเดียมออกมาไม่ได้ดี เช่น กรณีผู้ป่วยโรคไต โรคตับ หรือโรคหัวใจ ในร่างกายก็จะมีน้ำคั่งมาก เพราะเกลือที่คั่งอยู่จะดูดน้ำเข้ามาไว้ในอวัยวะต่างๆ ทำให้ปริมาณน้ำของเนื้อเยื่อภายในและภายนอกเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดอาการบวมขึ้นได้
- โรคกระดูกพรุน การรับประทานเกลือมากเกินไปเป็นเวลานานๆ อาจทำให้ร่างกายสูญเสียแคลเซียมในกระดูก เนื่องจากขณะที่ร่างกายพยายามขับโซเดียมส่วนเกินออกทางปัสสาวะยังส่งผลให้มีการขับถ่ายแร่ธาตุอื่นๆ รวมทั้งแคลเซียมออกไปด้วย จะเกิดการสูญเสียแบบสะสมเป็นผลทำให้เกิดภาวะกระดูกบางหรือโรคกระดูกพรุน และเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุอาจเกิดกระดูกแตกร้าวได้ง่าย
- โรคนิ่วในทางเดินปัสสาวะ อย่างที่เล่าว่าคนที่กินอาหารรสเค็มจัดเป็นเวลานาน ทำให้สูญเสียแคลเซียมในปัสสาวะมากนั้น แคลเซียมดังกล่าวยังอาจสะสมทำให้เกิดเป็นนิ่วในทางเดินปัสสาวะได้อีก ซึ่งแคลเซียมเป็นส่วนประกอบสำคัญของการเกิดโรคนิ่วได้
ความเค็มในชีวิตประจำวัน
“สำหรับคนไทยแล้ว แหล่งโซเดียมไม่ได้มาจากเกลือบนโต๊ะแบบต่างประเทศเท่านั้น เรายังมีเครื่องปรุงรสเค็มอื่นๆ ที่มีเกลือเป็นส่วนประกอบอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นน้ำปลา ซีอิ๊ว ซอสหอยนางรม ซอสมะเขือเทศ หรือซอสพริก ตลอดจนเครื่องปรุงรสเค็มตามท้องถิ่นต่างๆ เช่น กะปิ ปลาร้า น้ำบูดู หรือน้ำปู๋ แถมบางบ้านยังต้องมีน้ำปลาพริกวางไว้เคียงคู่โต๊ะอาหารอีกด้วยค่ะ นอกจากนี้ อาหารแปรรูปและอาหารสำเร็จรูปต่างๆ เช่น ไส้กรอก บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ก็มีเกลือโซเดียมเป็นส่วนประกอบ แม้อาหารบางอย่างที่ไม่ได้ออกรสเค็มก็มีโซเดียมเป็นส่วนประกอบเช่นกัน อาทิ ผงฟู (โซเดียมไบคาร์บอเนต) ผงชูรส (โมโนโซเดียมกลูตาเมท) ตลอดจนสารกันบูด (โซเดียมเบนโซเอต) เป็นต้น”
“เค็ม” เท่าไรถึงพอดี
“จากคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกและข้อกำหนดสารอาหารที่แนะนำให้บริโภคประจำวันสำหรับคนไทย ในฉลากโภชนาการ กำหนดไว้ว่า เราควรบริโภคโซเดียมไม่เกินกว่า 2,400 มิลลิกรัมต่อวัน หรือคิดเป็นเกลือวันละ 6 กรัม และเทียบเท่ากับเกลือ 1 ช้อนชา อย่างไรก็ตาม ปริมาณโซเดียมที่ร่างกายต้องการจริงๆ นั้นน้อยมากเพียง 500 –1,475 มิลลิกรัมต่อวัน ปกติอาหารประจำวันจะได้รับโซเดียมคลอไรด์พอเพียง ซึ่งเกลือ 1 ช้อนชา จะให้โซเดียมถึง 2,400 มิลลิกรัม มากกว่าปริมาณที่ร่างกายของเราต้องการหลายเท่า”
ทางที่ดี สำหรับผู้ที่ไม่อยากเจ็บป่วยหรือเป็นโรคแล้วก็ตาม คือ ต้องหัดกินอาหารรสจืดให้ได้เป็นปกติ และกินอาหารรสจัดให้น้อยลง
ขอบคุณข้อมูลดีๆจาก
http://www.cheewajit.com/
http://sukkhaphab.blogspot.com/